การไหว้ผีบ้านผีเรือน เรื่องที่หลายคนอาจมองข้าม ทำแล้วชีวิตจะมีความสุข เจริญรุ่งเรือง


ผีบ้านผีเรือน เป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่ชาวนครไทย (ปัจจุบันคือ อ.นครไทย ตั้งอยู่ใน จ.พิษณุโลก) ได้รับสืบทอดมาจากบรรพุรุษ เพราะเป็นระบบครอบครัวที่มีความเคารพยึดมั่นในผู้หลักผู้ใหญ่ สิ่งใดที่ปู่ย่าตายายทำไว้ก็ทำตามต่อกันมา เพราะเชื่อว่าทำแล้วจะทำให้ชีวิตในครอบครัวอยู่ดีมีสุข

ชาวนครไทย เรียกผีบ้านผีเรือนว่า ผีพ่อเฒ่าเจ้าเรือน ผีพ่อเฒ่าใหญ่ ผีเหย้าผีเรือน ซึ่งผีเหล่านี้มีลักษณะต่างจากผีทั่วไป คือจะอยู่ในรูปของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ มีลักษณะรูปร่างจะเหมือนคนปกติ ใส่ชุดไทย เป็นผีบรรพบุรุษที่ตายไป เช่น ปู่ย่าตายาย จะคอยคุ้มครองผู้อยู่อาศัยในบ้าน บ้างก็ว่าผีบ้านคือผีประจำหมู่บ้าน ส่วนผีเรือนก็คือผีประจำเหย้าเรือน และเรียกรวมกันว่าผีบ้านผีเรือน

การจัดพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือน มักจะให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ทำพิธี จึงทำให้ผู้สูงอายุมีความหมายต่อลูกหลานเป็นการให้ความสำคัญแก่ผู้ควรเคารพ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ ความรู้สึกโดดเดี่ยวจึงไม่มี ทำให้ลูกหลานมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของตน

การเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนนี้นิยมกระทำในวันตรุษ วันสารท วันเกิดของบรรพบุรุษ วันเอาข้าวขึ้นยุ้ง วันรับขวัญ โดยทำหิ้งขนาด 1-2 ฟุต วางของใช้ของบรรพบุรุษ เช่นพระห้อยคอ หนังสือ เสื้อผ้า ฯลฯ โดยผู้ทำพิธีจะเลือกเอาวันใดวันหนึ่งทำการเซ่นไหว้ บางบ้านจะเซ่นด้วยอาหารคาวหวานที่บรรพบุรุษชอบ บางบ้านเซ่นด้วยหัวหมู ไก่ หมาก พลู ขนม บุหรี่ เหล้า ดอกไม้ (นิยมใช้ดอกพุด) บางบ้านจุดตะเกียงบางบ้านจุดเทียน

ผู้ทำพิธีจะจุดธูปบอกกล่าวผีบ้านผีเรือนว่า ?ลูกหลานเอาของ? มาเซ่นไหว้เชิญมารับประทาน และขอให้คุ้มครอง? ให้อยู่ดีกินดีและร่ำรวย? พิธีนี้ชาวนครไทยเชื่อว่าถ้าปีใดไม่ทำพิธีเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือน ผีจะมารบกวนคนในบ้านให้เจ็บป่วย สามี-ภรรยาจะทะเลาะกัน เด็กเล็กร้องให้ทั้งคืน ถ้าครอบครัวใดทำพิธีเซ่นไหว้จะมีแต่ความสุขความเจริญ

บางครั้งหากบ้านใดมีคนป่วยหรือมีความทุกข์ต้องการให้ผีเรือนมาช่วย ก็อาจเซ่นไหว้ และเมื่อหายทุกข์หรือหายป่วย จะต้องเซ่นไหว้หรือแก้บนตามที่บอกกล่าวผีบ้านผีเรือนไว้